จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดการแสดงแสง สี เสียง เล่าขานตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง ชุด “ฮอยเสมาพิมพาพิลาป” สุดยิ่งใหญ่อลังการ ถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระธาตุยาคู

     วันอังคารที่ 6 มิถุนายน 2566 เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป ที่บริเวณเวทีกลาง พระธาตุยาคู เมืองฟ้าแดดสงยาง ต.หนองแปน อ.กมลาไสย นายศุภศิษย์ กอเจริญยศผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ หัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน และนักท่องเที่ยว ร่วมรับชมการแสดง แสง สี เสียง เล่าขานตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง “ฮอยเสมาพิมพาพิลาป” ในงานวิสาขปุณณมีปูชา และประเพณีสรงน้ำพระธาตุยาคู ประจำปี 2566 

     เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา ประจำปี 2566 ถือเป็นประเพณีของชาวอำเภอกมลาไสยและจังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะทุกๆปี ที่จัดสืบต่อกันมา ในเทศกาลวันวิสาขบูชา ภายในโบราณสถานเมืองฟ้าแดดสงยาง พุทธศาสนิกชนจะร่วมกันสรงน้ำพระธาตุยาคู ที่ชาวบ้านให้ความเคารพศรัทธาถึงความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะตำนานพระธาตุยาคู
     การแสดงนำเสนอถึงการเล่าขานเรื่องราวจากใบเสมาศิลปะทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 ที่สลักภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธองค์โปรดพระนางพิมพาที่ตําหนักของพระนาง หรือที่นิยมเรียกว่าพิมพาพิลาป นับได้ว่าเป็นหนึ่งในงานศิลปกรรมชิ้นเอกในอดีตกาลของแผ่นดินอีสาน  โดยใบเสมาแผ่นนี้ค้นพบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น คือกุญแจสำคัญที่จังหวัดกาฬสินธุ์นำเสนอการแสดง แสง สี เสียง ชุด “ฮอยเสมาพิมพาพิลาป” โดยการแสดงได้นำพาผู้รับชมร่วมพลิกฟื้นคืนความงดงาม ความศรัทธาจากอดีตกาลผ่านคำเล่าขานสะท้อนตำนาน ณ มงคลสถาน แห่งเมืองฟ้าแดดสงยาง ให้ได้ฟื้นคืนมา มีลมหายใจอีกครั้ง

     การแสดง แสง สี เสียง เล่าขานตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายธวัชชัย รอดงาม และนายสำเริง ม่วงสังข์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นางพรรณวดี รอดงาม รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมทำการแสดง พร้อมด้วยนักเรียน นักศึกษา และคณะผู้บริหาร ครู และบุคลากรจากวิทยาลัยจากวิทยาลัยนาฎศิลปกาฬสินธุ์ จำนวนกว่า 200 คน จนทำให้การแสดง แสง สี เสียง ในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว และผู้ที่มารับชมเป็นอย่างมาก

     พร้อมนี้ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรม ดนตรีโปงลาง จากวงสังคีตอีสาน โรงเรียนร่องคำ ซึ่งเป็นนักเรียนเยาวชน ลูกหลานชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่อนุรักษ์ พัฒนาและสืบสาน มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโปงลาง ให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายต่อไป

...................... สมบัติ  ชัยรัตน์  / ข่าว


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar