ปราสาทรวงข้าว ศิลปกรรมบุญคูณลานแห่งเมืองกาฬสินธุ์

ศิลปกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านต้อน ตำบลเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ร่วมกันสรรสร้าง ปราสาทรวงข้าว งานประเพณีบุญคูณลานฮีต 12 คอง 14 เป็นสัญลักษณ์ ความสามัคคี แรงศรัทธา เพื่อบูชาพระแม่โพสพ และสู่ขวัญข้าว ปราสาทรวงข้าว ศิลปกรรมบุญคูณลานแห่งเมืองกาฬสินธุ์ 

อากาศดียามเช้าม ที่ ตำบลเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ หลังจากฤดูเก็บเกี่ยว ช่วงเดือนธันวาคม ถึงมกราคม สิ่งที่เห็นจนคุ้นตา คือ ผู้เฒ่าผู้แก่ และ ชาวบ้านในทุกหมู่บ้าน จะรวมตัวกันที่วัดเศวตวันวนาราม เพื่อคัดเลือกรวงข้าวที่ละรวง ก่อนจะนำมามัดรวมกันด้วยตอก เตรียมพร้อมนำไปตกแต่งขึ้นรูปเป็นปราสาท หรือที่รู้จักกันดีในนาม ปราสาทรวงข้าว แห่งเมืองกาฬสินธุ์ สืบสานประเพณีบุญคูณลาน วัฒนธรรมที่สำคัญตามฮีต 12 คอง 14 เพื่อบูชาพระแม่โพสพ และสู่ขวัญข้าวเพื่อความเป็นสิริมงคล 

นายยงรัก สาระพนธ์ กำนัน ตำบลเหนือ เปิดเผยว่า ประเพณีบุญคูณลานสู่ขวัญข้าว หรือ บุญบายศรีสู่ขวัญข้าวบุญคูณลาน ถือเป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจ ความศรัทธา และพลังสามัคคีของชาวบ้านต้อน ตำบลเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำ ได้แก่ ฮีต คือคำว่า จารีต หมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี และ สิบสอง หมายถึง สิบสองเดือน ดังนั้น ฮีตสิบสอง จึงหมายถึงประเพณีที่ชาวอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้งสิบสองเดือน เป็นการผสมผสานพิธีกรรมที่เกี่ยวกับเรื่องผีและพิธีกรรมทางการเกษตรเข้ากับพิธีกรรมทางพุทธศาสนา 

ปราสาทรวงข้าว เริ่มสร้างในปี พ.ศ.2537 โดยเมื่อถึงช่วงเวลาประกอบพิธีบุญคูณลาน ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังนวดข้าวไม่เสร็จ จึงนำมัดข้าวที่ยังไม่แยกเมล็ดข้าวออกจากฟางมาถวายวัด จนเกิดเป็นแนวคิดในการนำมัดรวงข้าวมาสร้างเป็นปราสาทข้าว และพัฒนารูปแบบมาจนมีขนาดใหญ่ สวยงามอลังการเช่นปัจจุบัน 

ผู้เฒ่า ผู้แก่ หรือแม้แต่คนรุ่นใหม่ ต่างตั้งใจมั่นในการร่วมกันอนุรักษ์ สืบสานศิลปกรรมจากฝีมือชาวบ้านจนเกิดเป็นปราสาทรวงข้าวที่สวยงาน ให้อยู่สืบไป เพื่อคนรุ่นหลังจะได้เข้าใจและเห็นความสำคัญตามวิถีชาวนา จารีตประเพณี ที่งดงาม และได้จัดงานเป็นประจำทุกปี โดยสามารถเยี่ยมชมได้ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี 

งานประเพณีบุญคูนลานได้พัฒนารูปแบบจากที่ชาวบ้านนำข้าวมากองรวมกัน เดิมไม่มีรูปแบบสวยงาม ต่อมาจึงใช้ภูมิปัญญาและด้วยความคิดสร้างสรรค์ ในการนำรวงข้าวมาประดับตกแต่งเป็นปราสาทรวงข้าวด้วยศิลปะอีสาน ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่าสามเดือน จนกลายเป็น ปราสาทรวงข้าว ศิลปกรรมบุญคูณลานแห่งเมืองกาฬสินธุ์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ภาคภูมิใจของชาวกาฬสินธุ์ 

 

...............................  ธนกร ร่มไทรทอง : ถ่ายภาพ      ณัฏฐ์ ฐนันท์รมย์ : สนง.ประชาสัมพันธ์ จ.กาฬสินธุ์ รายงาน


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

image วิดีโอ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar